How-old.net : เมื่อเราแลกข้อมูลส่วนบุคคล
กับการให้ใครซักคนมาทายอายุเรา
อายุของเราเป็นเพียงตัวเลข แต่เป็นตัวเลขที่แปลกดี
เราทุกคนรู้ตัวเลขนี้ดีกว่าใครๆ แต่บางคนก็ทำเป็นลืมบ้าง ทำเป็นจำผิดบ้าง
บางคนถือสาหาความเรื่องตัวเลขนี้มากๆ
หากใครมาทราบโดยที่เราไม่ได้บอกด้วยตัวเอง อาจจะถึงขั้นโกรธเคืองไปเลย บางคนก็ถือว่าเป็นมารยาทที่จะไม่ถามตัวเลขนี้จากคนแปลกหน้า
หากไม่สนิทกันแล้วจริงๆ
เรื่องข้อมูลอายุนี้ พอเอาไปสัมพันธ์กับอีกปัจจัยหนึ่ง คือ
ใบหน้า ยิ่งเกิดความซับซ้อน
เพราะทั้งสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งมากๆ ในเชิงความรู้สึกและอารมณ์ ปัญหามันอยู่ที่ว่า อายุบางคนมันไม่สอดคล้องหรือสัมพันธ์กับใบหน้า ซึ่งก็แบ่งได้สองกรณี
กรณีแรก ใบหน้าเดินช้ากว่าอายุ หรือเรียกง่ายๆว่าหน้าเด็ก
กรณีที่สอง ใบหน้าออกตัวแรง แซงไปไกลกว่าอายุ ซึ่งก็มักเรียกกันว่า หน้าแก่
ไม่แปลกที่คนเราส่วนมากอยากหน้าเด็ก
แต่พอส่องกระจกดูตัวเองแล้วสรุปไปอย่างที่ใจอยากให้เป็นก็ดูเหมือนเข้าข้างตัวเองจนเกินไป
ดังนั้น คนจำนวนมาก
จึงอยากเปิดประชาพิจารณ์ใบหน้าของตัว
เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ว่าจากที่คนอื่นมองหน้าเราแล้ว
เราอายุเท่าไร
ลึกๆแล้ว เราจะสุขใจไม่น้อย หากผลการสำรวจออกมาว่า ใบหน้าเราเดินช้ากว่าอายุ
แล้วเราก็ยังอยากตอกย้ำผลที่ได้ โดยการถามคนอื่นเรื่อยๆไปอีก เป็นวงจรไม่สิ้นสุด
ในวันนี้ แทนที่จะไปไล่ถามเพื่อน ผู้ให้บริการในโลกออนไลน์ ก็เข้าใจจุดนี้
ไมโครซอฟท์ก็เช่นกัน จึงได้เปิดบริการอันหนึ่งขึ้น ก็คือเว็บ
ฮาวโอลด์ดอทเน็ต (http://how-old.net/#)
การใช้งานง่ายดายมาก เพียงแค่อัพโหลดรูปของเราเข้าไป ระบบมันก็จะ “ทาย” อายุให้พร้อมแสดงผลติดป้ายจั่วหัวในรูปให้เสร็จ (มีสัญลักษณ์แสดงเพศ ญ หรือ ช เท่านั้น !!)
สำหรับบางคนก็แม่น บางคนก็ว่าไม่แม่น บางคนคิดว่าแม่นแต่ก็บอกว่าไม่แม่น
ไม่ว่าผลเป็นอย่างไร ชาวโซเชียลก็มักจะแชร์ผลที่ได้เพื่อให้บรรดาเพื่อนในโซเชียลมีเดีย
มาตอกย้ำผลอีกที ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำไปในทางชื่นชม
หรือถล่มซ้ำ ก็แล้วแต่
ปัญหาที่ไทยไพรเวซี่มอง ไม่ได้อยู่ที่ว่า การทายอายุของเว็บนี้ มันแม่นหรือไม่แม่น และก็ไม่ได้อยู่ที่ว่า มันจะน่าขำ ชื่นชม หรือ
รันทัด กับกรณีรูปคนที่อายุจริง 45 แต่ผลบอกว่า 17
ประเด็นของไทยไพรเวซี่อยู่ทีว่า
ของเล่นนี้สะท้อนให้เห็นเทคโนโลยีใหม่หลายอย่างที่กระทบถึง
สิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล เช่น Face Detection API ที่เขียนอยู่บน Azure
Machine Learning, Azure Event Hubs ซึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากด้วยความรวดเร็ว เทคโนโลยี Bing Search API ที่ใช้ค้นหารูปภาพในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้ มันคือการเก็บ
และประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีรูปภาพบุคคล
ซึ่งตามหลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (ซึ่งไทยยังไม่มีออกมา ) แล้ว ควรที่จะต้องขอความ ยินยอม
จากเจ้าของข้อมูลนั้นก่อน
ขอบคุณนางแบบที่ให้ใช้ภาพประกอบ : คุณปุ๊ก คุณกุ้ง คุณติ๊กและลูก
ขอบคุณนายแบบผู้ให้ใช้ภาพประกอบ : คุณ Krammee Gron กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าเจ้าของภาพพอใจผลหรือไม่ เพราะอายุจริงน่าจะ 23 เอง
กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า คนที่เอารูปตัวเองโหลดเข้าไปให้ทายอายุ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับผู้ใช้งานโซเชียลหรือแอพอื่นๆ ที่เป็นคนยินยอมนำข้อมูลของตัวเองไปให้ใครสักคน (ระบบสักระบบ หรือ โปรแกรมซักโปรแกรม) เก็บ ใช้ ประมวลผล เผยแพร่ ส่งต่อ ข้อมูลส่วนบุคคล
มันชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยสัญญาการใช้งานหรือข้อตกลง
ที่ผู้ให้บริการได้กำหนดไว้แล้ว
หากอ่านดูข้อตกลงการใช้งาน How-old.net [1] แล้วสรุปได้ว่า
แม้ไมโครซอฟท์จะไม่เรียกร้องความเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว ( ในสัญญาข้อนี้ใช้คำว่า "ownership" (Microsoft does not claim ownership of any materials you provide )
แต่เจ้าของข้อมูลภาพถ่าย ตกลงให้ไมโครซอฟท์จัดการต่างๆเกี่ยวกับข้อมูลรูปภาพนั้นได้ นั่นคือ เมื่อคุณโพสต์ อัพโหลดข้อมูลเข้าไปสู่บริการเว็บนี้แล้ว เท่ากับคุณอนุญาต ไมโครซอฟท์ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ใช้ข้อมูลภาพ คัดลอก ส่งต่อ เผยแพร่ต่อสาธารณะ แก้ไข เปลี่ยนรูปแบบ อีกทั้งยังสามารถพิมพ์ชื่อของคุณประกอบไปกับภาพได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถให้สิทธิ์ดังกล่าวต่อไปยังผู้ให้บริการอื่นๆได้อีก
แต่เจ้าของข้อมูลภาพถ่าย ตกลงให้ไมโครซอฟท์จัดการต่างๆเกี่ยวกับข้อมูลรูปภาพนั้นได้ นั่นคือ เมื่อคุณโพสต์ อัพโหลดข้อมูลเข้าไปสู่บริการเว็บนี้แล้ว เท่ากับคุณอนุญาต ไมโครซอฟท์ รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ใช้ข้อมูลภาพ คัดลอก ส่งต่อ เผยแพร่ต่อสาธารณะ แก้ไข เปลี่ยนรูปแบบ อีกทั้งยังสามารถพิมพ์ชื่อของคุณประกอบไปกับภาพได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถให้สิทธิ์ดังกล่าวต่อไปยังผู้ให้บริการอื่นๆได้อีก
ดังนั้น โดยหลักการตามข้อตกลงนี้
ภาพถ่ายตัวเองที่เราอัพโหลดไปให้ How-old.net เพื่อทายอายุนั้น ผู้ให้บริการ อาจนำไปใช้ ทำเป็นภาพตัวอย่าง นำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นภาพกราฟฟิก นำไปโปรโมทบริการอื่นๆ นำไปโฆษณาขายเครื่องสำอาง ฯลฯ
เรียกได้ว่า ภาพของเรา แม้เราจะยังมีลิขสิทธิ์ (ถ้ามันถึงขนาดเข้าองค์ประกอบงานสร้างสรรค์) หรือความเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนนี้ (ซึ่งสัญญาใช้คำว่า ownership) แต่เราก็ตกลงอนุญาตให้ผู้ให้บริการ ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก จนความเป็นเจ้าของภาพของเราแทบไม่มีอยู่ในความเป็นจริงอีกต่อไป
สุดท้าย เราก็ยินยอมแลกข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ให้ใครซักคน (โปรแกรมซักโปรแกรม เว็บซักเว็บ) เพื่อแลกกับความพึงพอใจน้อยๆ (หากทายอายุมาน้อยกว่าที่เป็นจริง)
หรือความสนุกสนานขำๆเล็กๆ ( หากทายออกมาแล้วมันมากจนเว่อร์
หรือตรงจนเหลือเชื่อ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น